ค่าธรรมเนียมแก๊สของ Ethereum

ค่าธรรมเนียมแก๊สของ Ethereum ที่ทำให้ผู้ใช้ปวดใจ

ประเด็นถกเถียงในชาวชุมชน crypto เรื่อง ค่าธรรมเนียมแก๊ส ของบล็อกเชน Ethereum ที่มีราคาแพงมาเนิ่นนาน บวกกับการทำธุรกรรมที่ช้า เมื่อเทียบกับบล็อกเชนใหม่ ๆ ที่ทำออกมาและมาแรงกว่า ทั้งทางด้านค่าธรรมเนียมที่แสนจะถูกกว่า แถมยังเร็วกว่าอีกด้วย ถึงกับยกให้เป็น “Ethereum Killer” อย่างเช่น SOL, ADA, LUNA, DOT และอื่น ๆ

ขณะที่ Ethereum ก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ อยู่ในขั้นตอนของการแก้ไขปรับปรุงระบบเครือข่าย เพื่อทำให้ ค่าธรรมเนียมแก๊ส อยู่ในราคาที่เหมาะสม และมีการทำธุรกรรมให้เร็วขึ้น ให้สามารถคงความเป็นเหรียญอันดับ 2 ของโลก cryptocurrency ให้ได้

ค่าแก๊สคืออะไร

Gas เป็นคำที่ใช้เรียกปริมาณอีเทอร์ ( ETH ) สกุลเงินดิจิทัลดั้งเดิมของ Ethereum ที่เครือข่ายกำหนดให้ user จ่ายค่าทำธุรกรรมให้กับเครือข่าย ค่าธรรมเนียมเหล่านี้ใช้เพื่อชดเชยผู้ขุด Ethereum ที่ใช้ในการตรวจสอบธุรกรรม และเพื่อความปลอดภัยแก่เครือข่าย Ethereum โดยทำให้มีราคาแพงเกินไป สำหรับ user ที่ประสงค์ร้ายในการสแปมเครือข่าย

ที่มาของค่าแก๊สแพง

เนื่องจาก บล็อกเชน Ethereum เป็นบล็อกเชนแรก ที่สามารถรองรับ Smart Contract ได้ เมื่อเริ่มมีนักพัฒนาวงการระดมทุนไอซีโอ ( ICO ) มาใช้บริการบล็อกเชน Ethereum สามารถทำการสร้างเหรียญใหม่ได้อย่างง่ายดาย โดยการเขียน Smart Contract ตามมาตรฐานที่กำหนดไว้ และจากนั้น ก็เกิดเหตุการณ์การเกิดของเหรียญใหม่ ๆ นับพันเข้าสู่ตลาดอย่างมากมาย

นอกจากนั้น เมื่อมีบล็อกเชนที่สามารถรองรับ Smart Contract ขึ้นมาได้ ผู้พัฒนาระบบ ก็นำไปใช้ประโยชน์ในด้านต่าง ๆ มีการเกิดขึ้นของแอปพลิเคชันกระจายอำนาจ ( dApps ) มากกว่า 3,000 รายการ ที่ทำงานบนบล็อกเชน Ethereum

แน่นอน ในด้านการเงินและการลงทุน ได้มีการขยายการใช้ประโยชน์ไปยังภาคส่วนของ DeFi มีการเกิดใหม่ของโครงการการออมและการลงทุน บนบล็อกเชน Ethereum  ตลาด DeFi เติบโตอย่างมหาศาล มีการนำเงินมาล็อกไว้ในระบบเป็นจำนวนมาก

รวมไปถึง โครงการ NFT บนบล็อกเชน Ethereum ก็เติบโตเพิ่มขึ้นอย่างมาก มีการแพร่ขยายไปสู่วงการศิลปิน ศิลปะ นักร้อง นักแสดง ได้มีโปรเจกต์ NFT เกิดขึ้นอย่างมากมายในประเทศจีน เพื่อนำเสนอให้โลก Metaverse ได้รับรู้ ซึ่งแม้จะถูกสั่งห้ามอย่างเป็นทางการแล้วก็ตาม

นอกเหนือจากตลาดการเงินและการลงทุนแล้ว Smart Contract ยังได้ถูกนำไปพัฒนาการใช้อีกมากมาย ทำให้เกิดการใช้งานที่หลากหลาย มีการขยายวงออกไปในหลายอุตสาหกรรม ทั้งพลังงาน อาหาร การเกษตร ภาคขนส่ง ฯลฯ

ดังจะเห็นได้ว่า ยิ่งมีการใช้งานบล็อกเชน Ethereum มากขึ้นเท่าไร มีความคับคั่งของการใช้ระบบมากขึ้น จนเกินความคาดหมายของระบบเครือข่าย ความต้องการใช้เหรียญ Ethereum ก็ยิ่งเพิ่มมากขึ้น ทำให้ผู้ใช้บล็อกเชน Ethereum ต้องจ่าย ค่าแก๊ส เพิ่มขึ้นไปด้วย

การแก้ไขปัญหาของ Ethereum

ต้องยอมรับว่า เทคโนโลยีบล็อกเชนมีการพัฒนาอยู่ตลอดเวลา ทั้งทาง Ethereum และคู่แข่งทั้งหลายในตลาด ต่างมุ่งพัฒนาแก้ไขจากปัญหาต่าง ๆ ให้ไปสู่การระบบการทำงานที่ดีขึ้น หลักใหญ่ ๆ ที่ทาง Ethereum ได้ประกาศออกมาเพื่อทำการปรับปรุงระบบ มีดังนี้

  • Ethereum 2.0 มีการเปลี่ยนแปลงอัลกอริทึม consensus ของบล็อกเชน Ethereum จาก proof-of-work ( PoW ) ไปเป็น proof-of-stake ( PoS ) จะทำให้สามารถทำธุรกรรมได้เร็วขึ้น มากขึ้น
  • Hard Fork เป็นการอัปเกรดระบบบล็อกเชน Ethereum ที่มีการเปลี่ยนแปลงเกี่ยวกับการตั้งค่าและกฎเกณฑ์ต่าง ๆ โดยทำทั้งหมด 3 ครั้ง

    โดยครั้งแรก เรียกว่า Berlin Hard Fork เปิดตัวไปเมื่อ 15 เม.ย. 2564 ครั้งที่ 2 เปิดตัวเมื่อวันที่ 5 ส.ค. 2564 เรียกว่า London Hard Fork และครั้งที่ 3 Altair Hard Fork เปิดตัวไปเมื่อวันที่ 27 ตุลาคม 2564

ทั้งนี้ ยังเหลืออีก 2 ขั้นตอนหลัก ในการอัปเกรดระบบเครือข่ายบล็อกเชน Ethereum อย่างสมบูรณ์คือ “The Merge” โดยวางแผนไว้ในเดือน มิถุนายน 2565 นี้ ในการผสาน Ethereum mainnet เข้ากับ Beacon Chain และขั้นตอนสุดท้าย ในการนำ Shard Chains เข้าสู่เครือข่าย เพื่อเพิ่มความจุของเครือข่ายและปรับปรุงความเร็วของการทำธุรกรรม

ซึ่งก่อนหน้านี้ ได้มีการใช้งาน Beacon Chain ในการทำหน้าที่เป็นบล็อกเชนทดสอบ สำหรับการใช้งานแบบ Proof-of-Stake ของ Ethereum และสุดท้ายแล้วทั้งเครือข่าย Ethereum และ Beacon Chain ก็จะรวมกันเข้ามาเป็นระบบเดียวกัน

เปลี่ยนชื่อการเรียกการอัปเกรด

ทั้งนี้ ข่าวล่าสุด Ethereum Foundation ทำการประกาศการเปลี่ยนชื่อ ของการอัปเกรด Ethereum โดยจะเรียกว่า “Execution layer” แทนการเรียก Ethereum 1.0 ที่หมายถึงเครือข่ายหลักของ Ethereum ที่ทำงานอยู่ก่อนหน้านี้ ที่เป็นบล็อกเชนแบบ Proof-of-Work ( PoW )

และทำการเรียกว่า “Consensus layer” แทนการเรียก Ethereum 2.0 ที่จะหมายถึงเครือข่าย Ethereum ที่ทำงานแบบ Proof-of-Stake ( PoS ) เพื่อเป็นการแก้ไขข้อเสียของเครือข่ายแบบเก่า

สาเหตุของการเปลี่ยนชื่อในครั้งนี้เนื่องจาก Ethereum Foundation ไม่ต้องการให้ผู้ใช้งานสับสน และเพื่อเป็นการป้องกันกลโกง ( Scam ) ที่จะใช้ช่องโหว่จากความสับสนของคำว่า 1.0 และ 2.0 ซึ่งเมื่อทำการอัปเกรดเสร็จสมบูรณ์แล้ว ทั้งสองเครือข่ายก็จะรวมกันเป็นหนึ่งเดียวอยู่ดี

ก็ต้องรอดูกันต่อไปว่า สุดท้ายแล้ว Ethereum จะสามารถแก้ไขปัญหาเรื่อง ค่าธรรมเนียมแก๊ส และการแออัดของธุรกรรม ที่เป็นปัญหาได้หรือไม่ ถือเป็นบททดสอบใหญ่ ที่ยังต้องใช้เวลาในการแก้ไขและพิสูจน์ว่า Ethereum ยังสามารถคงยืนหยัดความเป็นเหรียญ crypto หมายเลข 2 ท่ามกลางคู่แข่งจำนวนมากในตลาด ที่พัฒนาขีดความสามารถขึ้นมาเทียบเคียง