หลังจากสงครามที่เกิดขึ้นระหว่าง ยูเครนและรัสเซีย รวมถึงการออกมาตรการคว่ำบาตรจากหลาย ๆ ประเทศส่งผลให้เศรษฐกิจโลกชะลอตัวลง และในประเทศไทยก็ได้รับผลกระทบเช่นเดียวกัน ราคาสินค้าทั้งอุปโภค บริโภค เริ่มทยอยปรับราคาขึ้น รวมถึงราคาน้ำมันที่ปรับขึ้นทำให้ทุกอย่างมีต้นทุนที่สูงขึ้น ราคาขายก็จะยิ่งแพงขึ้นไปอีก ซึ่งกระทรวงการคลังแห่งประเทศไทยนั้นก็ได้ให้ความเห็นเกี่ยวกับช่วงนี้ไว้ดังนี้
กระทรวงการคลัง มองว่าสงครามยูเครนและรัสเซีย ทำให้เศรษฐกิจไทยชะลอตัว
นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง ได้ออกมาเผยว่า สถานการณ์การสู้รบระหว่างรัสเซียกับยูเครน จะส่งผลต่อการเติบโตของเศรษฐกิจ จากราคาพลังงานที่เพิ่มสูงขึ้นในตอนนี้ การท่องเที่ยวก็ชะลอตัว แต่ยังคงเชื่อว่าเป็นผลกระทบในระยะสั้นเท่านั้น หากสถานการณ์ของสงครามนั้นจบได้เร็ว
สำหรับผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยที่ต้องติดตามดูนั้นมีทั้งเรื่องการนำเข้าและส่งออกระหว่างไทยและรัสเซีย ราคาน้ำมันที่กำลังสูงขึ้นเรื่อย ๆ ก็เป็นสิ่งที่ต้องหาทางแก้ไขโดยเร็วเพื่อไม่ให้สินค้านั้นปรับตัวสูงขึ้นตามไป ในด้านการท่องเที่ยวจะชะลอตัวลงไปบ้างในช่วงนี้ เป็น 3 เรื่องหลักที่ต้องมีการติดตามเพื่อแก้ไขสถานการณ์อยู่เสมอ
และหลังจากประชุมได้มีมติเห็นชอบมาตรการทางภาษีสรรพสามิตสำหรับการนำน้ำมันดีเซลและน้ำมันเตาไปผลิตกระแสไฟฟ้า เพื่อช่วยลดต้นทุนการผลิตกระแสไฟฟ้า เพื่อช่วยบรรเทาภาระค่าครองชีพของประชาชน โดยจัดเก็บภาษีสรรพสามิตอัตราศูนย์สำหรับน้ำมันดีเซลและน้ำมันเตาที่ใช้ในการผลิตกระแสไฟฟ้า ทำให้ไฟฟ้านั้นยังไม่ปรับขึ้นตามราคาพลังงานที่สูงขึ้น โดยที่มาตรการภาษีดังกล่าวจะมีผลใช้บังคับถึงวันที่ 15 กันยายน 2565 รวมระยะเวลาประมาณ 6 เดือน ซึ่งคาดว่าจะเป็นช่วงเวลาที่สถานการณ์ราคาก๊าซธรรมชาติในตลาดโลกจะปรับตัวลง
มีมติยกเว้นภาษีสำหรับการซื้อขาย สินทรัพย์ดิจิทัล
หลังจากที่ได้มีนโยบายเพื่อช่วยเหลือในส่วนของการอุปโภค บริโภคแล้ว ยังมีการประชุมเกี่ยวกับภาษีของการซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล ที่ได้มติในการยกเว้นการจัดเก็บ ภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับการโอนเหรียญคริปโตเคอเรนซี หรือ โทเคนดิจิทัล ในศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลที่ได้รับอนุญาตจาก ก.ล.ต. เท่านั้น รวมถึงการทำธุรกรรมต่าง ๆ ของ สกุลเงินดิจิทัลที่ออกโดยธนาคารแห่งประเทศไทย รวมถึงการให้หักลบผลการขาดทุนได้ในการขายเหรียญคริปโตเคอเรนซีจากศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลที่ได้รับอนุญาตจาก ก.ล.ต. เท่านั้น เป็นแนวทางเดียวกันกับที่ได้มีประกาศออกมาก่อนหน้านี้ และเริ่มมีผลบังคับใช้จริงแล้ว
รวมถึงการเห็นชอบหลักการมาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมการระดมทุนในวิสาหกิจเริ่มต้น ( Startup ) ให้สิทธิประโยชน์ ทางภาษีสำหรับการลงทุนใน Startup ไทยที่ประกอบอุตสาหกรรมเป้าหมาย ทั้งการลงทุนโดยตรง และการลงทุนโดยอ้อมผ่าน Venture Capital โดยที่ได้ยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและภาษีเงินได้นิติบุคคลให้แก่ผู้ลงทุนทั้งไทยและต่างประเทศ สำหรับกำไรจากการขายหุ้นใน Startup และยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลให้แก่ Corporate Venture Capital ( CVC ) ทั้งไทยและต่างประเทศ เป็นการยกเว้นภาษีที่ช่วยให้มีการลงทุนกับบริษัท Startup มากขึ้น