คำว่าเหรียญ coin หรือ token

คำว่าเหรียญ ทำไมบางครั้งเป็น coin บางครั้งเป็น token

ในวงการ cryptocurrency เมื่อนักเทรดมือใหม่ได้ทำการศึกษารายละเอียดของเหรียญแต่ละเหรียญที่มีการเปิดขายอยู่ในกระดานต่างๆ ก็จะพบข้อสงสัยว่า ทำไมบางเหรียญถูกเรียกเป็น coin ขณะที่บางเหรียญเรียก token จริง ๆ แล้ว ทั้งสองอย่างนี้ มีความแตกต่างกันอย่างชัดเจน ถึงแม้จะเรียกสลับกันบ้าง หรือบางครั้งด้วยความสะดวก ก็เรียกรวม ๆ กันไปว่าเป็นเหรียญ ถ้าหากเราเข้าใจความแตกต่างได้ เราก็จะเข้าใจภาพรวมว่าเรากำลังลงทุนอะไรอยู่

Coin คืออะไร

Coin คือ สกุลเงินดิจิทัลที่ถูกสร้างขึ้นบนระบบบล็อกเชนที่เป็นของตัวเอง และมีการพัฒนาเครือข่ายเป็นการรองรับโปรเจกต์ต่าง ๆ ในอนาคต ซึ่งแต่ละเครือข่ายบล็อกเชนก็จะมีนักขุดทำการขุดเหรียญ ตามรูปแบบและเงื่อนไขของการขุดเหรียญนั้น ๆ มีเทคโนโลยีที่พัฒนาขึ้นมา รวมไปถึงเงื่อนไข และหลักเกณฑ์ที่แตกต่างกันออกไป และมีการตรวจสอบความถูกต้องของธุรกรรมต่าง ๆ  ก็จะเป็นการยืนยันในระบบบล็อกเชนของตัวเอง

หรืออีกนัยหนึ่ง Coin ถือเป็น native token เป็นโทเคนตัวแรกของระบบบล็อกเชนนั้น ๆ

ถ้าจะให้สังเกตง่าย ๆ คือ Coin จะมีการทำงานบนบล็อกเชนที่มีชื่อเหมือนหรือใกล้เคียงกัน อย่างเช่น Bitcoin ทำงานอยู่บนบล็อกเชน Bitcoin ขณะที่ Ether ทำงานอยู่บนบล็อกเชน Ethereum หรือ Bitkub Coin ทำงานอยู่บนบล็อกเชน Bitkub Chain

Coin ใช้ทำอะไรได้บ้าง

  • เพื่อใช้เป็นตัวกลางในการแลกเปลี่ยนสินค้าและบริการต่าง ๆ  ( Medium of Exchange )
  • นำมาจ่ายเป็นค่าธรรมเนียมเครือข่าย ( Gas fee ) ในกรณีที่ผู้ใช้ต้องจ่ายในการทำธุรกรรมต่าง ๆ ของเครือข่ายบล็อกเชนนั้น ๆ

Token คืออะไร

Token คือ สกุลเงินดิจิทัลอีกชนิดหนึ่ง ที่ไม่ได้พัฒนาบล็อกเชนเป็นของตนเองโดยตรง ต้องอาศัยระบบบล็อกเชนของเครือข่ายผู้อื่นในการทำงาน ส่วนใหญ่จะถูกสร้างขึ้นผ่านการใช้ Smart contract ( สัญญาอัจฉริยะ ) เพื่อทำการสร้าง dApp ( Decentralized Application ) หรือ DeFi ( Decentralized Finance ) ขึ้นมา ผู้สร้างต้องทำการเลือกเครือข่ายบล็อกเชนของผู้อื่น เพื่อทำการพัฒนาขึ้นมาบนบล็อกเชนนั้น ๆ อีกทีหนึ่ง

ดังนั้น จะเห็นได้ว่า หากมีการใช้ token นั้น ๆ แล้ว มักจะมีการจ่ายค่าธรรมเนียมเป็น coin ของเครือข่ายบล็อกเชนนั้น ๆ

ยกตัวอย่าง เช่น Uniswap ( UNI ) และ Maker (MKR) ที่สร้างขึ้นบนบล็อกเชน Ethereum

Token ใช้ทำอะไรได้บ้าง

เนื่องจาก โทเคน ได้ถูกสร้างขึ้นมาจาก smart contract จึงทำให้เกิดรูปแบบการใช้งานที่หลากหลาย ขอยกตัวอย่างดังต่อไปนี้

  • Utility token เป็น โทเคน ที่มอบสิทธิ์ให้กับผู้ถือ ที่สามารถเข้าถึงการบริการต่าง ๆ ของแอปพลิเคชันที่ได้ตกลงกันไว้
  • Stablecoin เป็น โทเคน ที่มีมูลค่าคงที่ มีการนำมูลค่าไปผูกกับสกุลเงิน fiat
  • Governance token เป็น โทเคน ที่มอบสิทธิ์ให้กับผู้ถือ สามารถมีส่วนร่วมในการพัฒนา ปรับปรุงแอปพลิเคชันบนบล็อกเชนนั้น ๆ
  • Asset token เป็น โทเคน ที่นำมาใช้แทนมูลค่าของสินทรัพย์ทางกายภาพต่าง ๆ เช่น ที่ดิน ทองคำ
  • Payment token เป็น โทเคน ที่ใช้เป็นตัวกลาง ในการแลกเปลี่ยนสินค้าหรือบริการ
  • Non-fungibal token หรือ NFT เป็น โทเคน ที่ใช้แทนสินทรัพย์ที่มีลักษณะเฉพาะ เช่น ของสะสม ผลงานศิลปะ ดนตรี 

อย่างไรก็ตาม เทคโนโลยีบล็อกเชน ยังมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง รวมไปถึงการใช้ smart contract ในการก่อให้เกิดแอปพลิเคชันของ dApp  และ DeFi ใหม่ ๆ ขึ้นมาอีก จึงยังมีความเป็นไปได้อีกมาก ที่ โทเคน จะมีฟังก์ชันการทำงานที่สามารถเป็นไปได้หลากหลายมากยิ่งขึ้น