dApp แอปพลิเคชันแบบใหม่

dApp แอปพลิเคชันแบบใหม่ คืออะไร ดีกว่าแบบเก่าอย่างไร

นับตั้งแต่มีอินเทอร์เน็ต เราสามารถทำธุรกรรมรวมทั้งกิจกรรมหลากหลายอย่าง บนคอมพิวเตอร์ หรือแม้แต่โทรศัพท์มือถือ ผ่าน Application ต่าง ๆ ที่เราคุ้นชินกันมา นับเป็นการอำนวยความสะดวกสบาย และใช้เวลาอันรวดเร็ว ระบบนี้จะต้องมีศูนย์กลางในการประมวลผลข้อมูลไว้ใน server ของผู้ให้บริการนั้น ๆ

แต่ขณะนี้ ได้มีระบบใหม่ที่เรียกว่า dApp โดยใช้เทคโนโลยีบล็อกเชน เข้ามาเป็นทางเลือกใหม่ เพื่อทำการแก้ไขปัญหาที่ระบบเดิมมีข้อจำกัด ตอนนี้ได้เริ่มมีการพัฒนาและนำมาประยุกต์เข้ากับงานหลายภาคส่วนแล้ว จน dApp เป็นคำที่เราเริ่มได้ยินบ่อยมากขึ้นเรื่อย ๆ ในปัจจุบันนี้ มาดูกันว่า dApp คืออะไร มีข้อดีข้อเสียอย่างไรบ้าง แล้วแอปพลิเคชันแบบไหนที่เรียกว่า dApp

dApp คืออะไร

dApp ( Decentralized Application ) เป็นแอปพลิเคชันแบบกระจายศูนย์ ซึ่งก็คือแอปพลิเคชันหรือโปรแกรมคอมพิวเตอร์ ที่มีการทำงานบนระบบบล็อกเชน มีการรวมกันเป็นเครือข่ายคอมพิวเตอร์ ที่ไม่มีศูนย์กลาง โดยที่ทุกเครื่องมีความสำคัญเท่าเทียมกัน ที่เรียกว่า peer-to-peer ( P2P ) แทนคอมพิวเตอร์เครื่องเดียวหรือแทน server ในระบบเดิม

dApp มักจะถูกสร้างขึ้นบนแพลตฟอร์มของ  Ethereum โดยอาศัย Smart Contract มาช่วยในการประมวลผล เพื่อนำมาใช้พัฒนา application ต่าง ๆ โดยมีวัตถุประสงค์ที่หลากหลาย รวมไปถึงการเงินการธนาคาร การเล่นเกม และโซเชียลมีเดีย

โดยทั่วไปแล้ว แอปพลิเคชันที่จะสามารถเป็น dApp ได้ ควรที่จะต้องมีเงื่อนไข ดังต่อไปนี้

  1. ต้องมีการรักษาความปลอดภัยด้วยการเข้ารหัส
  2. ข้อมูลและการบันทึกฐานข้อมูลต้องมีการเปิดเผยต่อสาธารณะได้
  3. เป็นระบบแบบ open-source ที่ไม่อยู่ภายใต้การควบคุมใด ๆ ของบุคคล หรือกลุ่มคนใดเพียงกลุ่มหนึ่ง

ตัวอย่างของแอปฯ แบบรวมศูนย์ ได้แก่ Facebook, Twitter, Instagram และ Netflix รวมไปถึง application ของธนาคารและสถาบันการเงินต่าง ๆ

ตัวอย่างของแอปฯ แบบกระจายศูนย์ ได้แก่ Uniswap, Cryptokitties และ Axie Infinity

ข้อดีของ dApp

  • dApp ไม่มีใครเป็นเจ้าของคนเดียว ไม่มีใครสามารถควบคุมข้อมูลบนระบบได้ มีการปกป้องความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้ ทำให้มีการรักษาความปลอดภัยข้อมูลของผู้ใช้เป็นอย่างดี ไม่สามารถหาผลประโยชน์จากข้อมูลนี้ได้ ซึ่งเป็นข้อจำกัดที่ไม่สามารถหาได้บนแอปพลิเคชันแบบเดิม ที่มีการขายข้อมูลผู้ใช้ออกไปโดยที่เราไม่ได้ให้การยินยอม
  • ระบบ dApp มีความเสถียร เนื่องจากมีการทำงานเป็นเครือข่าย ซึ่งต่างจากระบบเดิม ที่อาจมีการล่มของ server  ที่ทำให้อาจเกิดปัญหา Single Point of Failure อย่างเช่นการล่มของ Facebook ที่เคยเป็นปัญหาทั่วโลก จนไม่สามารถทำงานได้เป็นเวลาหลายชั่วโมง หรือหาก server มีการโดนแฮก ก็เป็นไปได้ที่แฮกเกอร์จะได้ข้อมูลทั้งหมดไป
  • dApp มีความน่าเชื่อถือ ว่าข้อมูลที่เป็นจริงจากผู้ใช้ ไม่มีการบิดเบือนของข้อมูล หรือการแทรกแซง ปลอมแปลง หรือควบคุมจากทาง server แบบระบบเดิม

ข้อเสียของ dApp

  • เนื่องจาก dApp เพิ่งได้มีการพัฒนามาได้ไม่นาน ยังต้องการ การทดสอบการทดลองใช้หลายรอบหลายครั้ง ยังมีความต้องการฐานผู้ใช้จำนวนมาก เพื่อทำการพัฒนาระบบรวมถึงปรับแก้จุดบอดต่าง ๆ เพื่อให้สามารถทำงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ จนกว่าแอปพลิเคชันนั้น ๆ จะมีความสมบูรณ์
  • ด้วยเหตุที่ dApp ต้องทำงานอยู่บนเครือข่าย Ethereum ที่ยังคงมีปัญหาว่า เมื่อมีผู้ใช้งานทำธุรกรรมจำนวนมาก ๆ ในเวลาเดียวกัน จะมีผลต่อค่าธรรมเนียมในการทำธุรกรรม ( ค่า Gas ) ที่มากขึ้น ที่จนขณะนี้ ยังไม่สามารถแก้ไขได้
  • ความท้าทายในการแก้ไขโค้ด เมื่อมีการปรับใช้เพื่อแก้ไขจุดบกพร่องหรือแม้แต่ความเสี่ยงทางด้านความปลอดภัย อาจเป็นเรื่องยากใน dApps เนื่องจากข้อมูลและรหัสที่เผยแพร่ไปยังบล็อกเชนนั้น ทำการแก้ไขได้ยาก

ค่าใช้จ่ายของ dApp

ถ้าหากเป็นแอปฯ ระบบเดิม เราก็คงเข้าใจกันได้ว่าจะต้องมีค่าสมาชิกที่ทางบริษัทผู้ให้บริการเก็บเป็นรายเดือนหรือรายปี หรือทางบริษัทรับทำการโฆษณาอยู่ภายในเว็บไซต์ เพื่อไปเป็นค่าบำรุงรักษา server การดูแลระบบ การอัปเดตซอฟต์แวร์ต่าง ๆ

แล้ว dApp มีค่าใช้จ่ายอะไรบ้าง

คำตอบ คือเป็นค่าธรรมเนียมการทำธุรกรรมที่เรียกว่า “Gas” ( ที่นิยมเรียกกันว่าค่าแก๊ส )

ผู้ใช้ dApp จะต้องเสียค่าธรรมเนียมเหมือนการเข้าใช้บริการเครือข่ายของ Ethereum เมื่อมีการทำธุรกรรมเกิดขึ้น ผู้ใช้จะต้องชำระค่าแก๊ส เพื่อให้บล็อกเชน Ethereum สามารถดำเนินการได้ โดยที่ค่าแก๊สจะไม่ตายตัว จะขึ้นอยู่กับปริมาณการใช้งานในขณะนั้น โดยค่าธรรมเนียมนี้จะถูกนำมาใช้เป็นค่าในการดูแลรักษา dApp โดยการกระจายไปยังผู้ขุดในระบบบล็อกเชนที่ทำงานร่วมกันอยู่ในเครือข่าย

ด้วยคุณสมบัติของ dApp ในการรักษาความปลอดภัยของข้อมูลที่ดีเยี่ยม มีความโปร่งใส จากการดำเนินการโดยอัตโนมัติของ smart contract จะเห็นได้ว่า dApp มีการพัฒนาและการเติบโตของ ecosystem ขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง จึงเป็นไปได้มากว่า dApp จะเข้ามาเป็นทางเลือกที่สถาบันการเงินการธนาคารต่าง ๆ รวมไปถึงสตาร์ตอัป FinTech จะให้ความสนใจกันอย่างมาก เมื่อมีการใช้งาน dApp กันมากขึ้น ผู้บริโภคก็ย่อมได้รับประโยชน์ตามไปด้วย นับว่าเป็นบริการทางการเงินที่ปลอดภัย และมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น