Game-Fi เกมถูกพัฒนาร่วมกับบล็อกเชน

Game-Fi การลงทุนรูปแบบใหม่บนคริปโตเคอเรนซี

Game-Fi หรือ NFT Game ที่หลาย ๆ คนรู้จักเป็นการลงทุนรูปแบบใหม่ที่ดึงความสนใจของกลุ่มเป้าหมายอย่างคอเกมเข้ามาสู่โลกของคริปโตเคอเรนซีโดยมีจุดเด่นคือการนำเกมมาผสมกับระบบคริปโตเคอเรนซีจนออกมาเป็น Game-Fi แบบที่เรารู้จัก วันนี้ Cryptoaday จะพาเพื่อน ๆ ไปรู้จักกับ Game-Fi ให้มากยิ่งขึ้น 

เกม + คริปโตเคอเรนซี + NFT = Game-Fi

Game-Fi นั้นมาจากการผสมคำระหว่าง Game + Defi โดย Defi ย่อมาจาก Decentralized Finance หรือระบบการเงินไร้ตัวกลางหรือก็คือธุรกรรมที่เกิดขึ้นบนระบบ บล็อกเชน สำหรับใครที่ต้องการทราบรายละเอียดเกี่ยวกับ DeFi เพิ่มเติมดูได้ ที่นี่ โดย Game-Fi ประกอบไปด้วย 3 ส่วนหลัก ๆ คือ Gameplay , คริปโตเคอเรนซีและ NFT เข้าด้วยกัน โดยก็จะแตกต่างกันไปตามที่ผู้พัฒนาออกแบบ

NFT หัวใจหลักของ Game-Fi

ก่อนที่เราจะจะไปทำความรู้จักกับ Game-Fi กันอย่างลึกซึ้งเรามาทำความรู้จักกับ NFT ( Non – Fungible – Token ) สำหรับใครที่ยังไม่รู้จักกับ NFT สามารถดูได้ ที่นี่ ซึ่ง NFT เป็นหัวใจหลักของ Game-Fi เลยทีเดียวเพราะ 90 % ของ Game-Fi ที่มี จำเป็นที่จะต้องครอบครอง NFT ของตัวเกมเสียก่อนจึงจะสามารถเริ่มเล่นเกมได้นอกจากนี้ในบางเกมยังได้ของรางวัลในการเล่นออกมาเป็น NFT ด้วยซึ่งจะส่งผลให้เกิด Community ที่เข้มแข็ง ( เอา NFT ที่สุ่มได้ดี ๆ มาขิงกัน )  จึงไม่สามารถปฎิเสธได้เลยว่า NFT เป็นหัวใจสำคัญของ Game-Fi จริง ๆ

อยากเข้าสู่โลกของ Game-Fi ต้องทำอย่างไรบ้าง

หลัก ๆ แล้วก่อนที่เพื่อน ๆ จะเข้าสู่โลกของ Game-Fi เพื่อน ๆ จำเป็นที่จะต้องมีวอลเลต Web 3.0 ที่ใช้สำหรับการเก็บเหรียญของเกมต่าง ๆ เสียก่อนซึ่งทำหน้าที่ในการรับเงินจ่ายเงินและดูประวัติธุรกรรมต่าง ๆ ที่เราได้ทำบนวอลเล็ทนอกจากนี้ Game-Fi แต่ละเกมก็จะใช้ประเภทของวอลเลตแตกต่างกันไปโดยส่วนใหญ่จะขึ้นอยู่กับ บล็อกเชน ที่รันให้แก่ เกม นั้น ๆ เช่น Axie Infinity ที่รันอยู่บนอิเธอเรียมบล็อกเชนก็จะต้องใช้วอลเลตที่เข้ากันได้กับอิเธอเรียมบล็อกเชน และส่วนใหญ่จำเป็นต้องถือสินทรัพย์ของ เกม ด้วยจึงจะสามารถเข้าไปเล่นได้เช่น NFT และ Token ของ เกม นั้น ๆ

Game-Fi คือเกมจริง ๆ หรือไม่ ?

ต้องบอกตามตรงเลยว่า ณ ช่วงเริ่มแรกที่มี Game-Fi กำเนิดขึ้นมานั้นยังให้กลิ่นอายความเป็น เกม ที่น้อยมาก ๆ และนักลงทุนส่วนใหญ่ต่างลงความเห็นไปในทิศทางเดียวกันคือ แชร์ลูกโซ่ ดี ๆ นี่เองแต่นั้นก็เป็นเพียงสิ่งที่เกิดขึ้นในอดีตเพราะ ณ ตอนนี้ผู้พัฒนาได้เข็น เกม ระดับคุณภาพที่มีคุณภาพไม่แพ้ เกม ปกติทั่วไปเลยโดยตอนนี้ Game-Fi ถูกแบ่งออกเป็น 2 ประเภทหลัก ๆ ตามวิธีการเล่นดังนี้

Play-To-Earn ประเภทนี้จะเป็น เกม ที่ใช้ Skill Play ในการเล่นซึ่งใกล้เคียงกับคำว่า “ เกม ” ที่ทุกคนคุ้นเคยกันมากที่สุดซึ่งรายได้ขึ้นอยู่กับฝีมือของผู้เล่นโดยหากยิ่งเล่นเก่งผลตอบแทนที่ได้ก็จะยิ่งมาก แต่มักจะใช้เวลาและความเข้าใจในระดับนึงเหมาะกับคอเกมมากกว่านักลงทุน ยกตัวอย่างเกมเช่น Axie Infinity , Town Star
Click-To-Earn จะเน้นไปที่การคลิกไม่กี่คลิกก็จะได้ลุ้นว่าจะได้รับผลตอบแทนหรือไม่แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ขึ้นอยู่กับ Gameplay ของแต่ละ เกม บาง เกม ก็คลิก ๆ จบได้เงิน แต่บาง เกม ต้องมีการคำนวนต่าง ๆ การวางกลยุทธ์เพื่อให้ได้ผลตอบแทนที่ดีที่สุด ซึ่งแต่ละ เกม ก็จะมีจุดเด่นในเรื่องนี้แตกต่างกันออกไป ซึ่ง Game-Fi ประเภทนี้ค่อนข้างเหมาะกับทุกเพศทุกวัยเพราะเข้าใจง่ายที่สุด แต่ เกม แนวนี้ก็เกิดการ Rug Pull ( ผู้พัฒนาโอนเงินออกไปทำให้ไม่มีเงินมาจ่ายผู้เล่น ) ซึ่งหลายต่อหลายคนก็โดนบ่อย ๆ จน พอร์ตแตกเลยก้มี ตัวอย่างของเกมที่อยู่ในลักษณะของ Click-To-Earn เช่น Officeland , CrazyMiner

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นแม้วงการ Game-Fi จะพัฒนาขึ้นอย่างก้าวกระโดดแต่ยังมีข้อถกเถียงกันอย่างแพร่หลายว่า Game-Fi เป็นแชร์ลูกโซ่จริง ๆ หรือไม่ ซึ่งคำตอบของคำถามถูกแยกออกเป็นสองฝั่งอย่างชัดเจน บ้างก็ว่า Game-Fi ก็ไม่ได้แตกต่างอะไรกับแชร์ลูกโซ่เลยแต่ก็มีหลายส่วนที่ออกมาพูดว่า Game-Fi คือทางเลือกใหม่สำหรับนักลงทุนและคอเกมที่ต้องการจะมีรายได้จากการทำสิ่งที่รัก ซึ่งก็ต้องติดตามกันต่อไปว่าในอนาคต Game-Fi จะสามารถลบคำครหานี้ได้หรือไม่