เทคโนโลยีบล็อกเชน ( Blockchain ) เป็นระบบสำหรับการทำธุรกรรมทางการเงินของเหรียญคริปโตเคอเรนซี ที่แต่ละ Blockchain นั้นเลือกรูปแบบที่ให้บริการไม่ว่าจะเป็น Proof of Work, Proof of Stake และล่าสุดที่ Bitkub Chain นั้นเลือกใช้ก็คือ Proof of Authority แล้ว Proof of Authority นั้นทำงานแบบไหน มีข้อดี ข้อเสียของระบบอย่างไรบ้าง
Proof of Authority คืออะไร ทำไม Bitkub Chain ถึงเลือกใช้
Proof of Authority เป็นหนึ่งรูปแบบการทำงานของเทคโนโลยี Blockchain ที่มีกระบวนการทำงานด้วย Consensus Algorithm หรือ อัลกอริทึมฉันทามติ เป็นกระบวนการในการทำงานของ Blockchain ทุกแบบเพิ่มสร้างความน่าเชื่อถือและความเชื่อมั่นแก่ผู้ใช้งาน แต่ Proof of Authority ที่ Bitkub Chain เลือกใช้นั้นจะเป็น ระบบฉันทามติที่อ้างอิงกับชื่อเสียง ของผู้ตรวจสอบธุรกรรมที่เกิดขึ้นใน Blockchain ผู้ที่จะมาเป็นผู้ตรวจสอบ หรือ Validator Node นั้นจะต้องมีการเปิดเผยว่าเป็นใคร องค์กรไหน เพื่อให้ผู้ใช้งาน Blockchain นั้นมีความเชื่อถือได้ว่าผู้ที่ตรวจสอบนั้นมีตัวตนจริงและเป็นองค์กรที่มีชื่อเสียง
ปกติแล้ว Validator Node ของระบบ Blockchain นั้นจะเป็นใครก็ได้เพียงเข้าร่วม Run Node ในเครือข่าย หรือการขุดเหมืองนั่นเอง ก็จะได้เป็นเครื่องสำหรับการตรวจสอบข้อมูลการทำธุรกรรมของระบบ Blockchain แล้วไม่มีการเปิดเผยข้อมูลใด ๆ ทั้งสิ้น
สำหรับ Proof of Authority นั้นเริ่มมีแนวคิดการพัฒนาเมื่อปี 2017 Gavin Wood ผู้ร่วมก่อตั้ง Ethereum และผู้ก่อตั้ง Polkadot เป็นผู้ที่นำเสนอขึ้นมาเพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้ใช้งานมากขึ้นกว่าเดิม
Proof of Authority กับ Proof of Stake นั้นแตกต่างกันอย่างไร
ในการทำงานของ Proof of Authority กับ Proof of Stake ที่จริงแล้วเป็นรูปแบบเดียวกัน ก็คือเมื่อมีการทำธุรกรรมใน Blockchain ระบบจะสุ่มเลือก Validator จากผู้ที่ถือครองเหรียญมา Stacking ไว้ในระบบเท่านั้น แต่แนวทาง Proof of Authority นั้นจะแตกต่างออกไปนิดเดียวตรงที่ Validator ที่ถูกเลือกนั้นจะมีจำนวน Node ที่น้อยกว่า และต้องมีการเปิดเผยตัวตนด้วยเท่านั้น การทำงานอื่น ๆ ล้วนเหมือนกันทั้งหมด ซึ่งแนวทางนี้ไม่เป็นที่ยอมรับสำหรับผู้ใช้งาน Blockchain ส่วนใหญ่ แต่หากนำมาใช้งานภายในประเทศที่ต้องมีการควบคุมนั้นเป็นทางเลือกที่ดี ที่จะสามารถพัฒนาไปรูปแบบต่าง ๆ ที่ถูกกำหนดมาได้ง่ายกว่า ซึ่งเป็นทางออกให้ Bitkub นั้นยังคงทำธุรกิจเกี่ยวกับ Blockchain ได้ต่อเนื่อง
ข้อดีและข้อเสียของ Proof of Authority
ในส่วนของข้อดีหลัก ๆ เลยจะเป็นเรื่องความเร็วในการทำธุรกรรมต่าง ๆ นั้นจะรวดเร็วกว่า เพราะว่าจำนวน Validator Node ที่น้อยกว่า ทำให้ขั้นตอนการตรวจสอบนั้นลดลงไปมาก และยังมีความเชื่อมั่นที่ดีสำหรับคนที่ต้องการทราบว่าธุรกรรมที่ทำไปนั้นได้ผ่านการตรวจสอบจากบุคคลหรือองค์กรไหนบ้าง เพื่อสร้างความมั่นใจว่าธุรกรรมนั้นทำสำเร็จได้อย่างแน่นอนและมีบุคคลที่เชื่อถือได้ช่วยตรวจสอบแล้วด้วย
แต่ข้อเสียสำหรับแบบนี้ก็จะเป็นในส่วนของการถูกควบคุมจาก ผู้พัฒนาระบบ Blockchain และควบคุมจำนวน Validator Node รวมถึงการต้องเปิดเผยข้อมูลอีกด้วย ซึ่งเป็นหลักการที่ตรงข้ามกับ Blockchain ทั่วไป
บริษัทขนาดใหญ่เข้าร่วมเป็น Validator Node กับ Bitkub Chain
หลังจากที่ได้ประกาศแนวทางการทำงานของ Bitkub Chain ที่จะมาในแนวทางของ Proof of Authority ทำให้บริษัทเอกชนชั้นนำของประเทศไทยนั้นให้ความสนใจร่วมลงทุนเป็น Validator Node กับทาง Bitkub อย่างมากมาย ซึ่งก็เหมือนการร่วมลงทุนที่แต่ละบริษัทนั้นสามารถสร้างผลตอบแทนแบบระยะยาวไปได้เรื่อย ๆ เพราะ Bitkub นั้นมีผู้ใช้งานมากมาย แอปพลิเคชันทางการเงินอย่าง DeFi และ Game-Fi ก็เริ่มมีมากขึ้นอนาคตต่อไปค่าธรรมเนียมที่แต่ละ Validator Node จะได้รับนั้นจะมากขึ้นเรื่อย ๆ ทำให้หลายบริษัทนั้นเลือกเข้ามาร่วมลงทุน
บริษัทที่เข้าร่วมเป็น Validator Node กับ Bitkub Chain จะมีดังนี้
- บริษัท ทีพีซีเอส จำกัด (มหาชน)
- บริษัท สยามราชธานี จำกัด (มหาชน)
- บริษัท โปรเอ็น คอร์ป จำกัด (มหาชน)
- บริษัท อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ จํากัด (มหาชน)
- บริษัท เอสไอเอส ดิสทริบิวชั่น (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน)
- บริษัท สหพัฒนพิบูล จำกัด (มหาชน)
- บริษัท ทูซีทูพี (ประเทศไทย) จำกัด
- บริษัท เก็ทลิงส์ (ไทยแลนด์) จำกัด
- บริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี่ (ประเทศไทย) จํากัด
- SIX Network PTE. Ltd.
- SmartContract Blockchain Studio
จากรายชื่อที่มีทั้งหมดเห็นได้ชัดเลยว่าบริษัทเทคโนโลยีชั้นนำของประเทศไทยนั้นเริ่มสนใจเกี่ยวกับการนำเทคโนโลยี Blockchain มาเพื่อใช้ในการพัฒนาธุรกิจในอนาคต รวมถึงเข้ามาเป็นโครงสร้างพื้นฐานทางดิจิทัลให้กับบริษัทอีกมากมายหลังจากนี้