game fi คือแชร์ลูกโซ่จริงหรือไม่ ? ยังคงเป็นคำถามสุดฮิตที่มีการยกมาถามและสนทนากันอย่างบ่อยครั้ง ทั้งใน Community ของประเทศไทยและต่างประเทศ ซึ่งมีการถกเถียงกันอย่างมากว่า Game-Fi ในปัจจุบันเป็นแชร์ลูกโซ่หรือไม่ และวันนี้ Cryptoaday จะพาเพื่อน ๆ ไปหาคำตอบกันในคำถามที่มีการพูดคุยกันมากที่สุดคำถามหนึ่งในวงการ Game-Fi
รู้จักกับ Ponzinomic Mode ( แชร์ลูกโซ่ )
Ponzinomic คือเศรษฐศาสตร์ที่อยู่เบื้องหลังกลไกแชร์ลูกโซ่ เงื่อนไขคือธุรกิจที่ไม่มีแหล่งรายได้ใด ๆ หรือถ้ามีก็น้อยมาก แต่กลไกหลักให้คนหันมาลงทุนคือ การเอาเงินลงทุนของคนมาหลังไปจ่ายเป็นปันผลของคนมาลงทุนก่อน ซึ่งหมายความว่าทุกคนเข้ามาเพื่อหวังผลกำไร แต่จะมีผลกำไรได้อย่างไรถ้าธุรกิจนั้นไม่มีรายได้ นี่เป็นเหตุผลว่าทำไมแชร์ลูกโซ่ถึงถูกขนานนามว่า Fraud เพราะมันคือการเอาเงินคนมาใหม่ไปโปะคนมาก่อนไปเรื่อย ๆ จนถึงจุดที่ไม่มีใครมาลงเพิ่มแล้ว วันนั้นแชร์ลูกโซ่ก็จะไม่มีเงินจ่าย คนมาก่อนก็รวย คนมาหลังก็เจ๊งแล้วก็จบไป
ทำไม Game Fi ถึงเป็น Ponzinomic Model
ว่ากันตามตรงตอนนี้ Game-Fi ส่วนใหญ่ยังไม่สามารถหลุดจากการเป็น Ponzinomic Model หรือแชร์ลูกโซ่ได้ สังเกตได้จากเกมส่วนใหญ่เราจำเป็นที่จะต้องลงทุนเข้าไปบางส่วนของเกมก่อน จึงจะสามารถทำรายได้ออกมาได้ ซึ่งแทบจะไม่มี Game-Fi ไหนเลย ที่สามารถหารายได้จากภายนอกมาจ่ายให้ผู้เล่นได้ ซึ่งกล่าวอย่างได้เลยว่า Game-Fi ส่วนใหญ่ยังคงเป็น Ponzinomic Model แทบทั้งสิ้น
ซึ่งการกล่าวแบบนี้อาจจะทำให้สาวก Game-Fi หลาย ๆ คนมองค้อนเอาได้ แต่จุดนี้ก็อยากให้เพื่อน ๆ หลายคนมองในด้านของเหตุและผล เพื่อที่เราจะได้เข้าใจกลไกของมันและสามารถเล่น Game-Fi ได้อย่างสบายใจมากยิ่งขึ้น
แล้วเราควรเลือก Game-Fi แบบไหนดี ?
ผมเชื่อเหลือเกินว่า 80% ของผู้เล่น Game-Fi มักมุ่งเน้นไปที่ผลของกำไรเสียมากกว่าการเล่นเพื่อความสนุก ดังนั้นเราจะให้เหตุผลในแง่ของการลงทุนส่วนหนึ่งและในแง่ของ Gameplay อีกส่วนหนึ่ง ซึ่งเราจะยกตัวอย่างการบริหาร Ponzinomic Model ที่ดีให้เพื่อน ๆ ดูกัน
- ระยะเวลาคืนทุนไม่ควรเร็วกว่า 1 เดือน ถ้าคืนทุนเร็วเกินไป อัตราการเติบโตจะเร็วเกินไปจนถึงจุดที่ขยายผู้เล่นไม่ได้อีกแล้ว เกมก็จะตายอย่างรวดเร็ว และในทางจิตวิทยา หากผ่าน 21 วันไปแล้วคนจะรู้สึกมั่นคงและกล้าจะ Reinvest มากกว่าที่จะเอาเงินออก ส่งผลให้ต่อให้หาผู้เล่นใหม่มายังไม่ได้ แต่เกมก็ยังไปต่อได้จากผู้เล่นเก่าเช่นกัน
- การจำกัดจำนวนในการเล่น การจำกัดจำนวนในการเล่นไม่ใช่แค่เพียงจำนวนครั้งที่ผู้เล่นหนึ่งคนสามารถเล่นได้ แต่รวมไปถึงการจำกัดผู้เล่นใหม่ไม่ให้เข้ามามากจนเกินไป อ้าวแล้วแบบนี้เกมจะเอาเงินไหนมาแจกผู้เล่นเก่าละ คำตอบคือเกมควรจะออกแบบให้อุปกรณ์ที่เอาไว้เล่นเกมจะต้องถูกสร้างได้จากผู้เล่นเดิมเท่านั้น จะทำให้อุปกรณ์ที่ใช้เล่นเกมได้ค่อย ๆ เพิ่มตามจำนวนผู้เล่น วันที่ผู้เล่นน้อยก็จะมีอุปกรณ์ถูกสร้างมาน้อย วันที่ผู้เล่นเยอะก็จะถูกสร้างมาเยอะ เมื่อสอดคล้องกับระยะคืนทุนที่เหมาะสมก็จะทำให้เกมโตไปอย่างช้า ๆ และยืนยาว
- การใช้ Skill Play ในการเล่น ในข้อนี้จะออกไปทางของการเล่นเกมมากกว่าการลงทุน แต่แน่นอนว่า Game-Fi ก็เป็นเกมประเภทหนึ่งเหมือนกัน ดังนั้นรูปแบบการเล่นของเกมก็ส่งผลด้วย ซึ่งการใช้ Skill Play จะเป็นการจำกัดไม่ให้ผู้เล่นเข้ามาเพื่อหวังผลกำไรที่มากเกินไป แต่จะเป็นสำหรับผู้ที่ต้องการใช้ฝีมือในการเล่นของตัวเองเพื่อแลกเงินมา ส่งผลให้ตัวเกมเกิดการแข่งขันขึ้น ทำให้ผู้เล่นเลือกที่จะยอมจ่ายเงินเพื่อที่จะทำให้ตัวเองเก่งขึ้นมา Model แบบนี้ก็สามารถทำตัวเกมไปได้ไกลมากยิ่งขึ้น
- เกมที่มีรายได้จากข้างนอกเข้ามา เราจะยกตัวอย่าง The Sandbox ที่ก็ถือเป็น Game-Fi ที่มีรายได้จากทางอื่นเข้ามาคือ Sponsor เราจะเห็นได้ว่ามีบริษัทหลาย ๆ บริษัทเข้ามาโลดแล่นใน Metaverse ของ The Sandbox แล้วไม่ว่าจะเป็น Adidas ที่มีความต้องการจะขายแบรนด์ตัวเองในโลกของ Metaverse ด้วย
ตามที่กล่าวไปข้างต้น Game-Fi ส่วนใหญ่ยังเป็นรูปแบบของแชร์ลูกโซ่อยู่ แต่ไม่ได้แปลว่ามันไม่ดีเสมอไป เพราะสำหรับคนที่เข้าใจมันคือโอกาสในการสร้างได้มหาศาลให้เราเลยทีเดียว ทาง Cryptoaday ก็ขอฝากเพื่อน ๆ ให้ DYOR ก่อนจะตัดสินใจลงทุนด้วยนะครับ