หลังจากที่แนวโน้มของ Web 3.0 เริ่มมีความใกล้ชิดกับผู้ใช้งานมากขึ้นเรื่อย ๆ ทำให้ทุกคนควรที่จะเรียนรู้เกี่ยวกับตัว Web 3.0 นั้นคืออะไร มีความเป็นมาอย่างไร สามารถนำมาใช้งานได้อย่างไรบ้าง และจะต้องมีการป้องกันเพื่อความปลอดภัยอย่างไร เมื่อต่อไปเว็บไซต์จะเริ่มมีระบบเชื่อมต่อกับกระเป๋าเงินดิจิทัล โดยที่มีพื้นฐานหลัก 3 ข้อที่ควรรู้เกี่ยวกับ Web 3.0 ดังนี้
การพัฒนาขึ้นมาเป็น Web 3.0
สำหรับ Web 3.0 นั้นเป็นการพัฒนาเทคโนโลยีเกี่ยวกับเว็บไซต์ที่มีความทันสมัยมากขึ้น จากการเริ่มต้นมาจาก Web 1.0 เป็น Web 2.0 และในล่าสุดกำลังมีการเริ่มต้นใช้งาน Web 3.0 โดยแต่ละเวอร์ชันนั้นมีความเป็นมาอย่างไรบ้าง
Web 1.0
เป็นยุคเริ่มต้นของ Internet โดยเป็นเว็บไซต์ที่ผู้ใช้งานสามารถทำได้เพียงแค่อ่านหรือดาวน์โหลดข้อมูลต่าง ๆ ที่อยู่บนเว็บไซต์เท่านั้น ไม่สามารถโต้ตอบหรือสร้างเนื้อหาขึ้นบน Web 1.0 ได้ ยกเว้นแต่คนที่เป็นเจ้าของเว็บไซต์เท่านั้นที่จะสามารถแก้ไขเนื้อหาบนเว็บได้
Web 2.0
เป็นยุคของเว็บเกี่ยวกับ Social Media ที่คุ้นชินในปัจจุบันนี้ ที่มีการพัฒนาจากเดิมที่ใช้อ่านอย่างเดียว แต่ตอนนี้สามารถให้ผู้ใช้นั้นสามารถเขียนข้อความ อัปโหลดรูปภาพ วิดีโอ ทำสิ่งต่าง ๆ ได้มากมายบนเว็บไซต์ และถึงขั้นที่สามารถทำงานในรูปแบบ Office ได้ในระบบ Online ได้เช่นกันไม่ว่าจะเป็น งานเอกสาร วาดรูป ตัดต่อวิดีโอ ก็ทำในเว็บไซต์ได้
จะเห็นได้ว่าจากการพัฒนาขึ้นมาเป็น Web 2.0 เป็นการก้าวสู่ยุค Social Media ที่สังคมถูกนำเข้ามาสู่โลกออนไลน์ ทำให้ผู้คนนั้นเข้าถึงกันมากขึ้น การสื่อสารและข่าวสารก็รวดเร็วมากขึ้นทำให้ผู้คนนั้นสามารถรับรู้สิ่งต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นบนโลกได้ไวมากขึ้นกว่าเดิม
รวมถึงการทำธุรกิจของผู้ประกอบการเริ่มหันมาทำธุรกิจบนอินเทอร์เน็ตกันมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการโฆษณา การรับชมสื่อบันเทิงและการซื้อขายสินค้า สร้างสิ่งต่าง ๆ ให้รวดเร็วสะดวกสบายได้มากขึ้นได้จาก Web 2.0
Web 3.0 นั้นคืออะไร มีความแตกต่างจากเดิมอย่างไร
สำหรับ Web 3.0 นั้นในปัจจุบันนี้ยังอยู่ในช่วงของการพัฒนาและทดสอบอยู่เท่านั้น สำหรับแนวคิดของ Web 3.0 นั้นก็มาจากเทคโนโลยี Blockchain ที่ใช้ระบบแบบ เว็บไซต์กระจายศูนย์ หรือ Decentralized Website ที่ไม่ต้องมีตัวกลางในการเก็บข้อมูลและดำเนินการต่าง ๆ เพียงผู้เดียวอีกต่อไป
ซึ่งก็คือเมื่อเว็บไซต์ที่พัฒนาขึ้นมานั้น ถ้าหากเป็นระบบที่ต้องมีการบันทึกข้อมูล จะไม่ได้ถูกบันทึกไว้ในระบบของผู้พัฒนาแล้ว จะถูกนำไปใช้งานร่วมกับระบบ Blockchain ที่เป็นการกระจาย Server ออกไปหลาย ๆ ตัวแล้วทำงานร่วมกัน โดยในกระบวนการทำธุรกรรมของข้อมูลจะมีการตรวจสอบและเข้ารหัสอยู่เสมอ ไม่สามารถดัดแปลงแก้ไขได้จากผู้พัฒนาได้อีกต่อไป
นอกจากนี้เมื่อเป็นข้อมูลในระบบ Blockchain ทำให้ทุกคนนั้นสามารถเข้าไปตรวจสอบข้อมูลและนำข้อมูลต่าง ๆ นั้นไปใช้งานได้เพื่อใช้ในการวิเคราะห์ต่าง ๆ ได้มากขึ้น ซึ่งส่วนนี้ก็มีทั้งผลดีและผลเสียที่เกี่ยวกับข้อมูลส่วนบุคคลที่มีการนำขึ้นเข้า Blockchain นั้นจะคงอยู่ตลอดไป ถึงจะลบจากหน้าเว็บไซต์ไปแล้วก็ตามที
สามารถทำอะไรได้บ้างใน Web 3.0
ยกตัวอย่างการใช้งานของ Web 3.0 อย่าง Uniswap ที่เป็นแพลตฟอร์ม DeFi ที่ให้ทุกคนสามารถเข้ามาแลกเปลี่ยนคริปโตเคอเรนซีได้ โดย Uniswap มีโทเคนประจำแพลตฟอร์มที่ชื่อว่า UNI ซึ่งผู้ที่ถือโทเคนนี้สามารถเข้าร่วมระบบบริหารของแพลตฟอร์ม หรือ Governance ผ่านการเสนอนโยบายและร่วมโหวตนโยบายที่ผู้อื่นเสนอเข้ามา ซึ่งนโยบายพวกนี้อาจเป็นไปได้ตั้งแต่การเสนอให้เพิ่มคู่เหรียญใหม่รวมถึงการเปลี่ยนแปลงอัตราค่าธรรมเนียมต่าง ๆ ของระบบได้
หลังจากที่ได้รู้ความเป็นมาของ Web 3.0 มาแล้วต่อมาก็จะมาดูกันว่า Web 3.0 นั้นสามารถทำอะไรได้บ้างในช่วงแรกนี้ ซึ่ง Web 3.0 ในตอนนี้เป็นแนวคิดที่มาจากการสร้างเหรียญคริปโตเคอเรนซี การใช้งานส่วนใหญ่นั้นจะเกี่ยวข้องกับการทำธุรกรรมของเหรียญคริปโตเคอเรนซีมากกว่าไม่ว่าจะเป็น DeFi, Staking, Game-Fi และ NFT ทำให้ความเข้าใจในการใช้งานของ Web 3.0 ยังมีข้อจำกัดอยู่มาก ซึ่งถ้าอยากให้แพร่หลายเหมือนกับ Web 2.0 จะต้องมีการพัฒนาอีกมาก แต่ในอนาคตนั้นจะเริ่มมีการใช้งานที่มากขึ้นอย่างแน่นอนเมื่อยุคของ Decentralized มาถึง